เราเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์และผู้สร้างสรรค์ผลงานระดับโลก กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”
เคยสงสัยหรือไม่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้จริงหรือ?”
เรามักจะเห็นการหยิบยก จินตนาการสุดล้ำ-การคิดนอกกรอบ มาเป็นที่มาต้นกำเนิดของ “นวัตกรรม” ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้มากสุดและใกล้ตัวที่สุด ณ ขณะที่เรากำลังอ่านโพสต์นี้ คือ Facebook
Facebook เกิดจากจินตนาการ-ไอเดียที่ต้องการสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาโดยมีภาพของ “ศูนย์กลางให้เพื่อนที่อยู่มหาวิทยาลัยเดียวกันได้รู้จักและคุยกันบนนั้น” ปรากฏว่า จินตนาการนั้นได้เกิดขึ้นจริง และยังไปไกลเกินกว่าที่จินตนาการไว้เสียอีก
แต่ถ้าเรามี จินตนาการ เพียงอย่างเดียว จะสำเร็จได้? คำถามนี้ คงมีหลายคนส่ายหน้า แล้วบอกว่า “ต้องลงมือทำ”
ใช่แล้วครับ หากมัวแต่คิด แต่ไม่ลงมือทำ มันก็คงเป็นแค่จินตนาการหรือไอเดียที่เพ้อฝัน “Idea is Cheap แต่ Action is expensive” นะครับ เพราะไอเดีย มันมีความน่าจะเป็นที่คนมากกว่า1คนจะคิดเหมือนกันได้ ใครลงมือก่อน นั่นคือคีย์
การลงมือทำถ้าอาศัยแต่เพียงเดินตามจินตนาการโอกาสที่จะสำเร็จ คงน้อยลงเยอะ ถ้าปราศจาก “ความรู้และทักษะความสามารถ” คุณคงไม่ปฏิเสธข้อนี้นะครับ เหมือนเวลาเรามีจินตนาการว่า เราขับเครื่องบินได้ หากจู่ๆไปขับเลย โดยไม่มีความรู้และทักษะในการขับ ก็มีแต่ตายกับตายอย่างเดียว แม้แต่ปาฏิหาริย์ยังอาจจะโบกมือลาขอเอาตัวรอดไปก่อนแบบพระรอด แต่คนไม่รอด
อ่านมาถึงตรงนี้ พอจะเห็นภาพอะไรไหมครับ?
ไม่ต้องคิดนาน ผมเฉลยเลยละกัน
ผมกำลังพรรณนาให้เห็นว่า จินตนาการและความรู้ มันไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าอะไร ทั้งสองสิ่งล้วนสำคัญ แต่ทำงานคนละสถานการณ์ และทำงานควบคู่กันไป กล่าวคือ บางสถานการณ์เราจำเป็นต้องใช้ไอเดีย-จินตนาการที่บรรเจิด เช่น การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ฉีกแนวจากเดิม เพื่อเปิดตลาดใหม่ เอาตัวรอดจากยุค Disruption แต่พอคิดไอเดียได้แล้ว ขั้นตอนสำคัญที่ทำออกมาให้เป็นรูปธรรม หรือการ Implement ขั้นตอนนี้นี่แหล่ะ ที่ต้องมี “ความรู้” เข้ามาเกี่ยวข้อง
การทำธุรกิจก็เช่นกัน หากเราโฟกัสแต่คิดไอเดียฉีกกรอบ ยึดติดแต่ไอเดียนั้น วิเคราะห์บนพื้นฐานความพอใจของเราเพียงอย่างเดียว โดยปราศจากความรู้ ก็ต้องขอทำนายล่วงหน้าเลยว่า “เจ๊ง100%” ตัวอย่างของความคิดสุดล้ำแต่เจ๊งไม่เป็นท่า มีให้เห็นอยู่ทุกวัน ถ้าไม่อยากเป็นแบบนั้น “จง Balance จินตนาการและความรู้ให้ดี” ที่สำคัญ “อย่ามัวแต่คิด แต่ลงมือทำ โดยเฉพาะหาความรู้เพื่อทำไอเดียของเราเป็นจริงขึ้นมา”
ท้ายที่สุดนี้ ขอขอบคุณ ดร.ทอย แห่ง DrToy สปอยส์ธุรกิจ ที่แชร์ความรู้และประสบการณ์เรื่อง Design Thinking จนทำให้เกิดโพสต์นี้ขึ้นมา
ภากร กัทชลี
7/07/19